เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน

ระบบนิเวศน์อีสาน : ความหลากหลายพันธุกรรมข้าว

In Farmers Groups, Our Network on 17/12/2009 at 12:20 am

by: นุจนาด  โฮมแพน

เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน

 

อีสานเป็นพื้นที่ราบสูงที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดในประเทศ นั่นคือมีพื้นที่ประมาณ 105 ล้านไร่หรือ 1 ใน 3 ของพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด   ความกว้างใหญ่ไพศาลนี้ประกอบไปด้วยระบบนิเวศน์ต่างๆอย่างหลากหลาย ซึ่งสามารถ จำแนกได้เป็น 4 ระบบ คือ

  • ระบบนิเวศน์ทาม หรือระบบนิเวศน์พื้นที่ชุ่มน้ำ  ทามเป็นรอยต่อระหว่างผืนดินกับผืนน้ำ ซึ่งจะมีป่าเรียกว่าป่าทาม  เป็นระบบนิเวศน์ในเขตลุ่มน้ำที่มีน้ำท่วมถึงในช่วงฤดูฝน ระบบนิเวศน์ทามนี้มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ตรงแอ่งกลางของภาคตามแนวลำน้ำหลัก 3 สาย คือ ลำน้ำมูลทางส่วนใต้ของภาค  ลำน้ำชีทางส่วนกลางของภาค และลำน้ำสงครามทางส่วนบนของภาค   องค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศน์นี้คือ ลำน้ำ และพื้นที่ทาม ซึ่งมีทั้งป่าทามและนาทาม        เมื่อน้ำหลากจะเป็นพื้นที่รับน้ำท่วม จะมีบึงหรือกุดแทรกสลับ บริเวณนี้น้ำจะท่วมในฤดูฝน 3-4 เดือน และเกิดน้ำท่วมขัง     พื้นที่ทามชาวบ้านจะใช้ประโยชน์ในการหาปลา   ป่าโนนทาม/ป่าดอนทาม จะกระจายโดยรอบพื้นที่ ที่เป็นที่สูงขึ้นมาไม่มีน้ำท่วมขัง ทำให้เป็นที่อาศัยของสัตว์ป่าในช่วงฤดูน้ำหลาก หากเป็นป่าที่ติดกับพื้นที่ทุ่ง จะมีพรรณไม้ เช่น สมอ(ส้มหม้อ) ยางนา   สะแบง   หากเป็นป่าที่อยู่ระหว่างเลิงกับหนอง ส่วนมากจะเป็นพื้นที่ไผ่ป่า หากเป็นป่าที่อยู่ใกล้กุดก็จะพบพรรณไม้ เบ็นน้ำ เสียว หูลิง ทม ไทร ฯลฯ    

นิเวศน์ทามพบได้  ในเขต จังหวัดมหาสารคาม  จังหวัดร้อยเอ็ด   จังหวัดอุบลราชธานี   การทำการเกษตรจะปลูกข้าวที่มีอายุยาว และสามารถยืดตัวได้ในช่วงน้ำท่วม เช่น ข้าวเจ้าลอย ข้าวเหนียวลอย  ข้าวเหนียวก่ำลอย พอน้ำลดจะปลูกข้าวอายุสั้นหรือที่เรียกว่าการทำนาแซง เช่น ข้าวอีเตี้ย  ข้าวหอมสามกอ ข้าวหวิดหนี้ เป็นต้น

  • ระบบนิเวศน์ทุ่งลักษณะสำคัญของระบบนิเวศน์นี้คือที่ราบขนาดใหญ่ จึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการทำนา และมีการเลี้ยงสัตว์ในทุ่งและการปลูกพืชผักประกอบด้วย  ทุ่งที่ใหญ่ที่สุดของภาคอีสานคือทุ่งกุลาร้องไห้ที่ตั้งอยู่ตรงส่วนกลางของภาคครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม ที่เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญของประเทศ     ทุ่ง/ท่ง เป็นพื้นที่ราบลุ่ม   ส่วนใหญ่ใช้ทำนาปลูกข้าว มักจะตั้งบ้านเรือนชุมชนในพื้นที่ที่สูงน้ำไม่ท่วมถึง เรียกว่า โคก/ดอน/โนน   พรรณไม้ใหญ่ที่พบส่วนใหญ่เป็นไม้พุ่มเตี้ย คือ สะแก หว้า ตะโก สะแบง พยอม ทม (กระทุ่ม) หูลิง เสียว กระโดน ฯลฯ ในช่วงฤดูฝนจะพบปู ปลา หอย กบ เขียด ฯลฯ ส่วนในนาแล้งชาวบ้านจะใช้ทุ่งสำหรับเลี้ยงสัตว์  มีแหล่งน้ำคือ หนอง ห้วย กุดน้ำขัง กุดน้ำแห้ง กุดน้ำลึก ฮ่อง 

นิเวศน์ทุ่ง ในเขต จังหวัดมหาสารคาม  จังหวัดกาฬสินธุ์  จังหวัดยโสธร  จังหวัดสุรินทร์  จังหวัดอุบลราชธานี  การทำการเกษตรพื้นที่ราบลุ่มจะปลูกข้าว ที่มีอายุปานกลาง  เช่น ข้าวนางนวล ข้าวเล้าแตก  ข้าวเจ้าแดง ข้าวแม่ฮ้าง     และพื้นที่แอ่งกระทะมีน้ำขังจะปลูกข้าวหนัก หรือข้าวอายุยาว เช่น ข้าวเหนียวแดง  ข้าวคำผาย  ข้าวพม่าหอม ข้าวพม่าลาย  ข้าวแสนสบาย เป็นต้น

  • ระบบนิเวศน์โคกเป็นระบบนิเวศน์ที่ต่อเนื่องถัดขึ้นไปจากระบบนิเวศน์ทุ่ง   ลักษณะสำคัญของระบบนิเวศน์โคก คือ พื้นที่มักเป็นลักษณะที่ดอนที่เป็นลอนคลื่นสูง ๆ ต่ำ ๆ มีพื้นที่ที่ชาวอีสานใช้ในการทำนาดอน หรือทำไร่ และมักจะมีป่าประกอบอยู่ ซึ่งชาวอิสานเรียกว่าป่าโคก เป็นป่าเต็งรัง เป็นหลัก ระบบนิเวศน์นี้น่าจะเป็นระบบนิเวศน์ที่มีมากที่สุดของภาคอีสาน กระจายอยู่ทุกส่วนของภาค     ดินโคกจะไม่อุ้มน้ำ แหล่งน้ำก็มีน้อย หากเป็นหน้าฝนก็จะมีแหล่งน้ำที่เป็นน้ำซับ (น้ำคำ) ในบริเวณที่ต่ำสุดของโคก แต่ถ้าเป็นหน้าแล้งก็จะแล้งจัด ดินแห้ง

นิเวศน์โคก  ในเขตจังหวัดมหาสารคาม  จังหวัดกาฬสินธุ์  จังหวัดยโสธร  การทำการเกษตรที่ดอนจะปลูกข้าวเบา หรือข้าวที่มีอายุสั้น เช่น ข้าวป้องแอ้ว  ข้าวปลาซิว  ข้าวดอแดง  ข้าวดอฮี  ข้าวดอแผ่  ข้าวกอเดียว ข้าวลำตาล และบริเวณโคกที่สูงขึ้นไปอีกจะปลูกข้าวข้าวไร่  ที่ไม่ต้องการน้ำมาก เช่น ข้าวสายันต์  ข้าวชิลแม่จันทร์ ข้าวอีแหล่  ข้าวอีแหล่โสตาย   เป็นต้น

  • ระบบนิเวศน์ภูหรือนิเวศน์ภูเขา เป็นพื้นที่ในบริเวณชายขอบของภาค  ที่เป็นภูเขาสูงตามแนวของภาค เช่น บริเวณเทือกเขาดงเร็กทางทิศใต้ เทือกเขาดงพญาเย็นทางทิศตะวันตกเฉียงใต้  และเทือกเขาเพชรบูรณ์ทางทศตะวันตกของภาค นอกจากนี้ยังมีเทือกเขาภูพานที่เป็นเทือกเขาตัดพาดส่วนบนของภาคจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก ทำให้เกิดแอ่งของภาคเป็น 2 แอ่ง คือ แอ่งสกลนคร ในส่วนบนของภาคและแอ่งโคราชในส่วนล่างของภาค ในนิเวศน์ภูเหล่านี้จะมีพื้นที่ป่ามาก   ในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์  จังหวัดขอนแก่น (อำเภอสีชมพู  อำเภอภูผาม่าน) จังหวัดเพชรบูรณ์  การทำการเกษตรจะปลูกข้าวไร่  เช่น  ข้าวปลาซิวน้อย  ข้าวหางปลาไหล  ข้าวหอมภูพาน ข้าวก่ำใจดำ  ข้าวแผ่แดง ข้าวมังกรแดง  ข้าวเจ้าไร่  ข้าวพญาลืมแกง  ข้าวควายหลง เป็นต้น

 

การทำงานขับเคลื่อนพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านในภาคอีสาน

                จากระบบนิเวศน์ของอีสานที่มีความหลากหลาย จึงทำให้มีพันธุ์ข้าวที่หลากหลายและเหมาะสมกับนิเวศน์นั้นๆ   ครอบครัวๆหนึ่งมีพื้นที่ไม่ได้มีเฉพาะนิเวศน์ใดนิเวศน์หนึ่งแต่ประกอบด้วนหลายนิเวศน์ทำให้มีการจัดการแรงงานในครอบครัวได้อย่างเหมาะสม เช่น ที่ดอนที่โคกปลูกข้าวเบา  ที่ราบ(ทุ่ง)ก็ปลูกข้าวกลาง  ที่ลุ่มน้ำขังก็ปลูกข้าวหนัก  แต่ภายใต้นโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมและพัฒนาการปลูกข้าว เพื่อตอบสนองการค้าและการตลาดส่งออกเป็นหลัก   ทำให้พันธุ์ข้าวดั้งเดิมของเกษตรกรที่มีอย่างหลากหลาย ได้สูญหายไปโดยเหลือแต่พันธุ์ข้าวส่งเสริม เช่น ข้าวหอมมะลิ 105  และข้าวเหนียว  กข 6 

เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ได้การดำเนินงานเรื่องพันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน โดยมีเป้าหมาย เพื่อให้เกษตรกรเป็นเจ้าของพันธุกรรม   สามารถพึ่งตนเองได้   การสร้างรูปธรรมระดับพื้นที่  สร้างอาสาสมัครพัฒนาพันธุ์  การขยายผลสู่ชุมชน  และเพื่อผลักดันนโยบาย ที่มีผลกระทบต่อพันธุกรรมพื้นบ้าน และสร้างอำนาจการต่อรอง   การดำเนินงานที่ผ่านมา มีการสำรวจ รวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่ยังหลงเหลือในพื้นที่ประมาณ 140 สายพันธุ์ ที่ยังคงเหลืออยู่ด้วยเหตุปัจจัยหลักคือ วัฒนธรรมการกินบริโภคในครอบครัว ลดต้นทุนการผลิตไม่ใช้สารเคมีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  สอดคล้องกับแรงงานในครอบครัว  สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์และแบ่งปันคนในชุมชนได้   เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ  มีการปลูกอนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ข้าวโดยเกษตรกร   มีอาสาพัฒนาพันธุ์ข้าวเพิ่มขึ้น  และนอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนพันธุ์ในระดับชุมชน เช่น งานบุญเดือนสาม บุญข้าวจี่  ร่วมกับอบต.จัดมหกรรมแลกเปลี่ยนพันธุ์ในระดับตำบล และยังมีการจัดงานมหกรรมแลกเปลี่ยนพันธุกรรมระหว่างเครือข่าย จนทำให้ข้าวพื้นบ้านกระจายไปทั่วทั้งภาค   และยังมีการพัฒนาชาวบ้านเป็นนักวิชาการข้าวพื้นบ้าน นักอนุรักษ์ นักปรับปรุงพันธุ์ตามนิเวศน์ผ่านกิจกรรมการทำนารวม  แปลงสาธิต แปลงทดลอง  แปลงอาสาสมัครพัฒนาพันธุ์  ปัจจุบันมีพื้นที่ดำเนินการเรื่องพันธุกรรมข้าว  7  ภูมินิเวศน์ คือ

  • ภูมินิเวศน์กาฬสินธุ์-นครพนม

มีพื้นที่ดำเนินการ  4  กลุ่ม คือ ตำบลหนองห้าง  ตำบลเหล่าไหงาม  อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ 2 กลุ่ม  อำเภอนาคู-อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ 1 กลุ่ม  อำเภอวังยาง จังหวัดนครพนม – อำเภอโคกสีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร 1  กลุ่ม    มีการอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวถึง  31 สายพันธุ์    การพัฒนาพันธุ์ข้าวพบว่าข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่มี 5 สายพันธุ์   มีอาสาพัฒนาพันธุ์ทั้ง  4  กลุ่มพื้นที่โดยใช้แปลงรวมในการศึกษาทดลอง กลุ่มละ  1  แปลง  โดยใช้วิธีการดำข้าวต้นเดียว   ตัดข้าวปน  มีการจดบันทึกลักษณะประจำพันธุ์  ทดสอบการกิน  การแปรรูป   มีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน 6 สายพันธุ์ คือ ข้าวเจ้าโสมาลี  2ไร่  ข้าวเหนียวอีเตี้ย 2 ไร่  ข้าวเหนียวสาวอุดร 5 ไร่ ข้าวเหนียวกอเดียว 10 ไร่  ข้าวเจ้ามะลิแดง  7 ไร่  ข้าวเจ้ามะลิดำ  2 ไร่   

การขยายการปลูกข้าวพื้นบ้านกลุ่มได้มีวิธีการ สีขายเป็นข้าวกล้อง ตลาดชุมชน  มีการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวโดยเกษตรกร   ทำแปลงใกล้ถนน  ตกกล้าให้เกษตรกรใครสนใจมีการให้ข้อมูลลักษณะประจำสายพันธุ์ข้าวและให้ถอนกล้าเอง       การทดลองร่วมกับกลุ่ม อสม. กลุ่มโรคเบาหวานโดยให้กินข้าวเจ้ามะลิแดง  และมีการจัดมหกรรมแลกเปลี่ยนพันธุกรรมพื้นบ้านร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลสายนาวัง  อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์

  • ภูมินิเวศน์ทุ่งกุลาร้องไห้

                มีพื้นที่ดำเนินการ  4  กลุ่ม  คือ ตำบลหินกอง -บ้านจานบ้านเตย ตำบลทุ่งกุลาอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด  2 กลุ่ม  อำเภอเกษตรวิสัย  จังหวัดร้อยเอ็ด  1  กลุ่ม  อำเภอปทุมรัตน์  จังหวัดร้อยเอ็ด  1  กลุ่ม  ในการพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นบ้านมีอาสาสมัคร  10   คน  มีการจดบันทึกลักษณะประจำพันธุ์ข้าว แต่เกษตรกรยังขาดทักษะและความเข้าใจในแบบบันทึกลักษณะประจำพันธุ์ในแปลงอาสาสมัครพัฒนาพันธุ์และแปลงศึกษาทดลองรวม 4  แปลง ในแปลงศึกษาทดลองยังขาดการวางแผนงานร่วมของสมาชิกทำให้การดำเนินการได้เพียงการร่วมกันบันทึกลักษณะพันธุ์ข้าว  และมีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เช่น ข้าวเจ้าโสมาลี  ข้าวมะลิดั่งเดิม  ข้าวเจ้ามะลิแดง  ข้าวเจ้ามะลิดำ  ข้าวเหนียวพม่าหอม มีการตัดข้าวปนอย่างน้อย  2  ครั้ง  เกี่ยวและนวดด้วยมือ

การขยายการปลูกข้าวพื้นบ้านโดยการจัดงานแลกเปลี่ยนผ่านงานบุญข้าวจี่  และกลุ่มหินกอง ได้ทำวิจัยเรื่อง การศึกษาวัฒนธรรมชุมชนเพื่อขยายผลพันธุกรรมพื้นบ้าน เลือกบุญเผวช ในการทดลอง ผลการจัดงานในครั้งนั้นสามารถขยายการปลูกข้าวเพิ่มขึ้น และได้จัดตั้งกลุ่มปลูกข้าวพื้นบ้าน 3  หมู่บ้าน  23  ครอบครัว

  • ภูมินิเวศน์มหาสารคาม

                พื้นที่ดำเนินการ  6  กลุ่ม  คือ อำเภอวาปี  1 กลุ่ม  อำเภอนาดูน  1  กลุ่ม  อำเภอกันทรวิชัย  1 กลุ่ม   บ้านแมด ตำบลตลาด-บ้านหนองคู ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง 2  กลุ่ม บ้านทิพโสต ตำบลดอนกลางอำเภอโกสุมพิสัย 1  กลุ่ม   มีการอนุรักษ์พันธุกรรมข้าว  36  สายพันธุ์  กลุ่มบ้านแมด  ตำบลตลาด  อำเภอเมือง มีการพัฒนาพันธุ์ โดยใช้แปลงรวมในการศึกษาทดลองข้าวในเขตพื้นที่นาปรัง ที่เหมาะสมกับพื้นที่ และลดการใช้ปุ๋ยเคมี 

กลุ่มบ้านทิพโสต  ตำบลดอนกลาง  อำเภอโกสุมพิสัย มีการรวบรวมพันธุ์ข้าวไร่มาทดสอบความเหมาะสมพื้นที่ และให้ผลผลิตสูง กินอร่อย  มีการประสานความร่วมมือกับศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ ผลการรวบรวมและทดสอบพันธุ์พบว่าข้าวหอมสกล และข้าวสายันต์ได้รับความนิยมจากคนในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง

  • ภูมินิเวศน์สุรินทร์  

                พื้นที่ดำเนินการ 2 กลุ่ม  ตำบลทมอ อำเภอปราสาท    ตำบลหนองบัว อำเภอท่าตูม  มีการอนุรักษ์พันธุกรรมข้าว   37   สายพันธุ์   มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน  สมาชิกพัฒนาพันธุ์โดยใช้ระบบแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ คัดเลือกเมล็ดพันธุ์คุณภาพและปลูกแบบนาดำ และดูแลการผลิตอย่างใกล้ชิด เกษตรกรแต่ละรายจะต้อง มีแปลงเล็กสำหรับทำพันธุ์หลักโดยใช้กระบวนการทางเทคนิคหลายวิธีการ แบบผสมผสาน คือ  เทคนิคการปลูกข้าวต้นเดียว (SRI) คือตกกล้าข้าวให้ได้อายุ 8-12 วันและนำไปปลูกทีละกล้าหรือที่ละต้น แยกระยะห่างให้เหมาะสมเทคนิคคัดข้าวกล้อง คือการนำเอาเปลือกเมล็ดข้าวออกก่อนนำไปตกกล้า  เทคนิคปลูกทั้งรวง คือการปลูกทั้งรวงเรียงแถวเดียวกันให้ได้สายเลือดเดียวกัน  กลุ่มชาวบ้านจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพข้าว ติดตามเยี่ยมแปลง และสนับสนุนช่วยเหลือสมาชิกผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์   โดยมีเป้าหมายผลิตเมล็ดพันธุ์คือ ลดการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิจากบริษัทและหน่วยงานรัฐ และผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เพียงพอสำหรับสมาชิกในชุมชนและเครือข่าย   และส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพได้ด้วยตนเอง   โดยมีขั้นตอนการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพ  คือ ลงแปลงพันธุ์ ตรวจวิเคราะห์ ตรวจดูคุณภาพเมล็ด ตามไปดูที่บ้านสมาชิก  กลุ่มคัดอีกครั้งด้วยเครื่องจักร พัฒนาเครื่องมือ บรรจุกระสอบก่อนส่งขาย  มีเกษตรกรอาสาสมัครนักอนุรักษ์ รวม 15 ราย (รวมทั้งสองพื้นที่)  มีแปลงรวมสำหรับการปลูกทดสอบสายพันธุ์ และเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาพันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน รวม 2 แห่ง

เกษตรกรนักอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมพื้นบ้าน ในสองกลุ่มพื้นที่ ทำงานเผยแพร่แนวคิด ทักษะ เทคนิควิธีการในการพัฒนาพันธุกรรมข้าวให้กับผู้สนใจทั่วไป เช่น เกษตรกรรายย่อย เด็กนักเรียน หน่วยงานต่างๆ โดยใช้กระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาหลากหลายรูปแบบ  เช่น  ฝึกอบรมเกษตรกรเครือข่ายการเรียนรู้ศูนย์ปราชญ์  จัดการเรียนรู้ในโรงเรียน ถ่ายทอดความรู้สู่ผู้สนใจ

สำหรับการพัฒนาตลาดทางเลือกข้าวพื้นบ้าน สีเป็นข้าวสารหรือหุงข้าวสวยขายที่ตลาดนัดสีเขียว โดยตรงถึงผู้บริโภค  เช่น  ข้าวปกาอัมปึล   ข้าวมะลิดำ  ข้าวเหนียวดำ  สีเป็นข้าวสารข้าวกล้อง บันจุถุงนำมาขายที่ร้านข้าวหอมและตลาดเมือง เช่น ข้าวปกาอัมปึล  ข้าวมะลิแดง  ข้าวเนียง กวง   พัฒนาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต  เช่น เนียงกวง  ทำขนมจีน  ข้าวหอมมะลิ  และอื่นๆ/บีบน้ำมันรำข้าว  และมีการทดสอบข้าวหลายชนิดสำหรับทำแป้งขนม   

  • ภูมินิเวศน์ยโสธร 

มีการอนุรักษ์พันธุกรรมข้าว หลายสายพันธุ์ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา มีประชุมประจำเดือนทุกวันที่ 9  ของเดือน เนื้อหาในการประชุมการวางแผน/แก้ปัญหาเฉพาะหน้า    วิเคราะห์สถานการณ์ของข้าวพื้นบ้าน  ให้ข้อมูลความเคลื่อนของเครือข่ายพันธุกรรมอีสานของแต่ละพื้นที่ เช่น การไปเข้าร่วมประชุมกับเครือข่ายอื่น ก็นำมาเล่าสู่กันฟัง    มีการทำวิจัยเรื่อง การศึกาพันธุกรมข้าวพื้นบ้านเพื่อการขยายการผลิตข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน    เพื่อการค้นหาพันธุ์ข้าวที่มีอยู่เดิม และมีพันธุ์อะไรบ้างคงอยู่ และทำไมจึงสูญหาย   คงอยู่   ศึกษาความเหมาะสมของนิเวศน์ เหมาะสมอย่างไร    และศึกษาจากแปลงทดลองนารวมของกลุ่ม  เช่น  การอนุรักษ์พันธุ์ พัฒนาปรับปรุงพันธุ์   บันทึกลักษณะประจำพันธุ์  ทดสอบตามความเหมาะสมกับพื้นที่    เปรียบเทียบสายพันธุ์   มีการศึกษาดูงานอนุรักษ์พันธ์ข้าว    พันธ์ข้าวพื้นบ้าน     เรียนรู้เทคนิคค้นหาพันธ์พื้นบ้านที่ต้องการ  มีการร่วมงานภาคี  เช่นศูนย์วิจัยข้าวอุบล   เครือข่ายโจ้โก้   มูลนิธิสายใยแผ่นดิน  มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน  และในส่วนของการรณรงค์การขยายผล  เช่นงานบุญเดือน 3   หลักสูตรอบรมของศูนย์ปราชญ์  เลือกแปลงติดถนนปลูกข้าว  สีขายในตลาดเขียว

เหตุผลที่เลือกศึกษาในแปลงนารวม คือช่วยกันเรียนรู้ เปรียบเทียบข้อแตกต่าง ปรึกษาหารือกัน เพราะแต่ละคนมีความสนใจที่แตกต่างกัน ทำให้ร่วมกันสังเกต วิเคราะห์ เรียนรู้ร่วมกัน    สามารถศึกษาพันธุ์ข้าวภายใต้สิ่งแวดล้อมเดียวกัน แล้วเปรียบเทียบสายพันธุ์ข้าวตามแบบงานวิชาการได้  และนักวิชาการจากศูนย์วิจัยข้าว มาสอนง่ายขึ้น เพราะเป็นสถานที่เดียว โดยใช้แปลงของ  นายวรรณา ทองน้อย เพราะเป็นพื้นที่จุดศูนย์กลางของสมาชิกกลุ่มทั้งยังมีลำห้วยอยู่บริเวณใกล้เคียง หากเกิดภาวะน้ำไม่พอ สามารถสูบน้ำมาใช้ในแปลงได้  มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาคุณลักษณะประจำพันธุ์ และปลูกเปรียบเทียบสายพันธุ์  เพื่อศึกษาความแตกต่างของแต่ละสายพันธุ์ เพื่อหาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่   การพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความนิ่ง ความบริสุทธิ์  และการยกระดับเกษตรกรในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้มีความนิ่งในระดับวิชาการ วิธีการศึกษาปลูกเป็นรวงแบบคัดเมล็ดข้าวกล้องที่สมบูรณ์สำหรับตกกล้า ปลูกข้าวรวงเดียวกันเป็นแถว แบบปักดำ การปลูกข้าวต้นเดียว (การปลูกข้าวแบบ SRI) และการจดบันทึกคุณลักษณะพันธุ์ข้าวตามช่วงระยะการเจริญเติบโตของต้นข้าว ผลการดำเนินงานสร้างการเรียนรู้แบบกลุ่ม   ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เทคนิคด้านการคัดเมล็ดพันธุ์ การพัฒนาสายพันธุ์   การสังเกตและการจดบันทึก เรียนรู้ข้อดีข้อเด่นของแต่ละสายพันธุ์ มีความรู้เกี่ยวกับอายุข้าว การดูผลผลิตต่อรวง ผลผลิตต่อไร่ แลกเปลี่ยนความรู้เดิมที่ได้มาจากบรรพบุรุษในเรื่องการคัดพันธุ์กับการวิจัยทางวิชาการ   และเกิดการแลกเปลี่ยนข่าวสาร ประสบการณ์ ข้อมูลความรู้ด้านเกษตรกรรมยั่งยืนจากกลุ่ม

  • ภูมินิเวศน์เทือกเขาเพชรบูรณ์

                พื้นที่ดำเนินการ  3  กลุ่ม คือเทพนา  พองหนีบ  หนองจาน  มีการอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวไร่หลายสายพันธุ์   

สำหรับพื้นที่หนองจาน  ตำบลนาหนองทุ่ม       อำเภอสีชมพู   จังหวัดขอนแก่น  สถานการณ์  ชาวบ้านข้าวไม่พอกิน  คนในพื้นราบไปอยู่ที่สูง  มีพื้นที่ราบสำหรับปลูกข้าวจำกัดชาวบ้านขาดทักษะการผลิตแบบคนชาวไร่ ประกอบกับการรุกคืบของพืชเศรษฐกิจ อ้อยและมัน ชาวบ้านคิดค้นหาพันธุ์ข้าวไร่เพื่อจะแก้ปัญหาเรื่องการอดข้าว จึงได้มีการรวบรวมพันธุ์ข้าว และนำมาปลูก  11  สายพันธุ์ คือ ข้าวปลาซิวน้อย   ข้าวหางปลาไหล  ข้าวหอมภูพาน  ข้าวสันป่าตอง  ข้าวก่ำใจดำ  ข้าวแผ่แดง  ข้าวมังกรแดง  ข้าวเจ้าไร่  ข้าวพญาลืมแกง   ข้าวก่ำปูน  ข้าวแก่นดู่   พบว่าพันธุ์ข้าวที่มีความเหมาะสมคือ ข้าวแผ่แดง   ข้าวมังกรแดง  ข้าวเจ้าไร่   ข้าวพญาลืมแกง  เพราะให้ผลผลิตมาก หอม  นุ่ม และเหมาะกับดิน ในส่วนการขยายผลการปลูกแบ่งปันให้คนในชุมชนและหมู่บ้านใกล้เคียง บ้านผาสามยอด บ้านซำผักหนาม  บ้านวังอีเมียง      

  • ภูมินิเวศน์อุบลราชธานี

                มีพื้นที่ดำเนินการ  6  อำเภอ คือ อำเภอสว่างวีระวงค์   อำเภอสำโรง  อำเภอตระการพืชผล  อำเภอศรีเมืองใหม่  อำเภอพิบูลมังสาหาร   อำเภอเขื่องใน  มีการอนุรักษ์พันธุกรรมข้าว  51  สายพันธุ์    มีนักพัฒนาพันธุ์ แปลงศึกษาทดลองรายครอบครัว และแปลงศึกษาทดลองรวม  4 แปลงบ้านพรานคาน  บ้านสุขสมบูรณ์  บ้านโนนกลาง พบว่าพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ อำเภอสว่างวีระวงศ์ คือ ข้าวนางนวล   ข้าวเจ๊กเชย  ข้าวขี้ตมหอม  ข้าวหอมสามกอ  ข้าวอีเตี้ย  ข้าวหอมพม่า ข้าวยืนกาฬสินธุ์  ข้าวแสนสบาย  ข้าวมะลิดำ  ข้าวมะลิแดง อำเภอสำโรงพันธุ์ข้าวที่เหมาะสม  ข้าวหอมสามกอ ข้าวหอมทุ่ง  ข้าวดอหอม  ข้าวหอมเสงี่ยม ข้าวสันป่าตอง ข้าวนางนวล  ข้าวเหนียวแดง

สำหรับการขยายผล ใช้วิธีการ เวทีโสกับชาวบ้าน จัดแลกเปลี่ยนงานบุญกุ้มข้าวใหญ่  เลือกแปลงที่ติดกับถนน ประกอบกับเหมาะกับพื้นที่น้ำท่วม  ที่ทำกินมีน้อย จึงส่งผลให้สามารถขยายการปลูกข้าวพื้นบ้าน โดยเฉพาะข้าวอีเตี้ย  ข้าวหอมสามกอ ได้ดีในพื้นที่  บ้านพรานคาน เกือบทั้งหมู่บ้าน  บ้านฮ่องอ้อ  25 ครัวเรือน  บ้านท่าช้าง  80 ครัวเรือน บ้านสุขสมบูรณ์  22  ครัวเรือน

  1. ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากๆ จะนำไปเผยแพร่ต่อคะ

Leave a comment